‘ปังปุริเย่ฝุดๆ’ อย่างปฏิเสธไม่ได้ สำหรับอีเวนต์จี้ปฏิรูปการศึกษาโดยกลุ่ม (ที่เรียกตัวเองว่า) ‘นักเรียนเลว’ ซึ่งจัดเวทีชัตดาวน์ละม้ายคล้ายม็อบอะไรสักอย่างที่มีนกหวีดเป็นภาพและเสียงในความทรงจำ โดยมี ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้นดีเบตด้วยท่าทีเป็นระเบียบเรียบร้อย ก่อนกล่าวผ่านไมค์ในสภาภายหลังว่าเห็นทีนักเรียนเหล่านี้ จะมีท่อน้ำเลี้ยง เพราะไม่ได้ขับรถส้วมเข้ามาเอง สุดท้ายโดนย้อนถามหลังไมค์ว่า ตอนม็อบ กปปส.ท่านขับรถส้วมเองหรือไม่?
นั่นคือรอบ 2 ของการยึดพื้นที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ หลังหนแรกแจกคำสั่ง ‘ไปต่อแถว’ ให้เจ้ากระทรวงไปแล้ววาระหนึ่ง กลายเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางถึงปรากฏการณ์สำคัญนี้ ว่าแท้จริงแล้วมีเบื้องหลังสำคัญไม่ใช่อื่นใด หากแต่เป็นความอัดอั้นจากการถูกกดทับโดยระบบอำนาจนิยมในสถานศึกษาที่แม้นักวิชาการพูดกันมาไม่รู้กี่หน ทว่า ไม่เคยมีครั้งใดที่นักเรียนไทยสวมเครื่องแบบออกมาแอ๊กชั่นด้วยตัวเองถึงเพียงนี้
ล่าสุด ยังมีประเด็นฮือฮาที่ส่งเสียงฮาไม่ออก กับแฮชแท็ก #saveขนมจีน ซึ่งมีที่มาจากภาพ ‘แบบเรียนประวัติศาสตร์’ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เล่มหนึ่ง ปรากฏรูปนักร้องชื่อดัง ‘ขนมจีน’ กุลมาศ สารสาส แต่งกายสไตล์วัยรุ่นฝรั่งตามยุคสมัยครั้งออกอัลบั้มเพลงชุดแรก โดยมีคำถามในหน้า ‘กิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้’ ว่า ‘นักเรียนคิดว่าวัฒนธรรมนี้เหมาะสมกับคนไทยหรือไม่ อย่างไร’ พร้อมคำเฉลยสำเร็จรูป (ที่เดาได้) ว่า ‘ไม่เหมาะสม เพราะดูไม่เรียบร้อย’ ทำเอาชาวเน็ตงงหนัก ตั้งคำถามว่า เอาอะไรมาเป็นบรรทัดฐาน
ด้านเจ้าตัวพอรู้ข่าว ก็มีเครื่องหมายคำถามไม่ต่างกันว่า เอาอะไรมาชี้วัด เพราะคอสตูมในภาพนั้น อยู่ในบริบทการเป็นนักร้องในวัย 13 และไม่โป๊เปลือยวับแวบแต่อย่างใด ก่อนปิดท้ายด้วยประเด็นของระบบการศึกษาไทยที่จำกัดความคิด
ครั้นหันมอง 360 องศา ทั่วไทย แฟลชม็อบนามสกุล #ไม่ทน ของเหล่านักศึกษาประชาชนทุกภูมิภาค ล้วนมี ‘นักเรียน’ เข้าร่วมอย่างมากมาย โดยเฉพาะพระนครศรีอยุธยา ซึ่งล่าสุดพัฒนาสู่การจัดเวทีของตัวเองโดยนักเรียน 3 โรงเรียนดังของจังหวัด ในชื่อ ‘#หนูรู้มันดีได้กว่านี้’ ยั่วล้ออย่างมีชั้นเชิงกับงาน ‘#หนูรู้หนูมันเลว’ ของกลุ่มนักเรียนเลวที่จัดขึ้นก่อนหน้า
ความตื่นตัวนี้ ไม่ใช่เพียงการร่วมนั่งฟังปราศรัยหลังเลิกเรียน หรือจัดอีเวนต์นักเรียนแบบเบิ้มๆ ทว่ารวมถึงความต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริงด้วยการยื่นบัตรประชาชนในซุ้มล่า 5 หมื่นชื่อของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ‘ไอลอว์’ แสดงเจตจำนงขอร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ดังเช่นคำบอกเล่าของ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ โดยยอดล่าสุดไม่กี่วันมานี้ เหลืออีกราว 3 พันเศษ ก็จะถึงเส้นชัย 5 หมื่นชื่อ
“ทุกคนเห็นอยู่แล้วว่าความตื่นตัวทางการเมืองของคน อายุน้อยลงเรื่อยๆ เด็กมัธยมมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ที่อยุธยาชัดเจน เพราะกลายเป็นว่าผู้ชุมนุมหลักคือเด็กมัธยม และเป็นผู้หญิงด้วย จำนวนหนึ่งลงชื่อได้ จำนวนหนึ่งก็ ม.ต้นเลย ควักบัตรปุ๊บ อายุไม่ถึง ลงไม่ได้จริงๆ” ผู้จัดการไอลอว์กล่าวในบทสัมภาษณ์ที่ถามถึงงานปราศรัยหน้าศาลากลางเก่า แห่งกรุงเก่า ที่เยาวชนมากมายไม่ได้คิดแบบเก่าๆ อีกต่อไป
วิ่งตามโลกใน‘แบบเรียนล้าหลัง’ วิสัยทัศน์ติดลบที่ต้องปฏิรูป
“อย่าแปลกใจหรือสงสัยว่าเหตุใดนักเรียนทั่วประเทศออกมาชู 3 นิ้ว การดีเบตของนักเรียนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯถึงแตกต่างเหมือนอยู่คนละโลก”
คือความเห็นของ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งออกมาขยี้ปมร้อนสะท้อนทรรศนะการเรียนการสอนที่เชิ่ดใส่อะไรๆ ‘นอกกะลา’ อันสืบเนื่องจากมาม่าชามล่าสุดที่ปรุงด้วยเส้น ‘ขนมจีน’ จากประเด็นที่กล่าวไปข้างต้น
ครูธัญญ์ ธัญวัจน์ อดีตครูสอนการแสดง ระบุว่า การศึกษาคือ สิ่งที่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความสำคัญ เพราะเป็นรากฐานของบุคลากรที่มีคุณภาพ แต่ประเทศไทยยังมีแบบเรียนที่ล้าหลัง ชี้นำความคิดปลูกฝังวัฒนธรรมผิดๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นหลายอย่างเพราะการศึกษาไทยการสอนให้เด็กไทยไม่เคารพผู้อื่น นำพาสู่การไม่เคารพตัวเอง ประเทศไทยต้องการการศึกษาที่เปิดกว้างที่ทันโลก เราต้องการการเรียนการสอนที่ให้รู้จักการเคารพตนเองและผู้อื่น
“การศึกษาไทยปลูกฝังการตัดสินผู้อื่น เหยียดบุคคลจากรูปลักษณ์ภายนอก ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น น่าสลดใจที่ศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยเดินไปไม่ทันโลกที่เปลี่ยนไปผู้ออกแบบเรียนไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นนอกกะลาใบนี้ เหตุใดกระทรวงศึกษาฯ ถึงอนุมัติให้แบบเรียนนี้ออกมา ชัดเจนแล้วว่าวิสัยทัศน์ของผู้บริหารติดลบ
อยากเรียกร้องไปยังกระทรวงศึกษาฯ พัฒนาวิชาสังคม ให้มีการเรียนรู้เข้าใจสังคมและความหลากหลาย และหยุดการสอนให้เด็กตีตราผู้อื่น เพราะเป็นการสร้างความเกลียดชังที่นำพาไปสู่การบูลลี่ และร้ายไปถึงการส่งผลต่อจิตใจผู้อื่น”
จัดหนัก จัดเต็ม ไม่แพ้ พิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตร ที่ล่าสุดให้ความเห็นต่อประเด็นม็อบนักเรียนทั้งหน้ากระทรวงศึกษาธิการและในแฟลชม็อบต่างๆ อย่างชวนสะดุ้งหลังพิธีเคลื่อนย้ายอัฐิวีรชนพฤษภา 35 ไปยังอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ว่า
“…..ในครั้งนี้มันเป็นสิ่งที่พิเศษกว่าครั้ง 14 ตุลา เพราะ 14 ตุลา นักเรียนเพียงแค่ร่วมเดินขบวนกับนักศึกษา แต่ในครั้งนี้นักเรียนสามารถล้อมกระทรวงและทำให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการต้องออกมาตอบคำถาม จริงๆ แล้วรัฐมนตรีสามารถปฏิรูปการศึกษาได้เลยไม่จำเป็นต้องรอรัฐธรรมนูญ แต่เพราะแต่งตั้งคนไม่ได้เรื่องเข้าไป”
ตรรกะพิศวง การคุกคามที่ฝังกลบไม่ได้
ด้าน รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เคยเผยแพร่ความเห็นต่อเนื้อหาถาม-ตอบในเวทีดีเบตระหว่างนักเรียนกับรัฐมนตรีศึกษาธิการไว้หลายประเด็น โดยเน้นหนักที่ระบบวิธีคิดหรือ ‘ตรรกะ’ ที่น่าเป็นห่วงว่าแวดวงการศึกษาไทยจะยิ่งดิ่งเหว
“ต่อคำถามเรื่องการแก้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน นักเรียนแจ้งว่ามีกรณีนักเรียนถูกคุกคามจากการแสดงออกทางการเมือง 109 โรงเรียน รัฐมนตรีบอกว่า ครูมี 5 แสนคน มีกรณีคุกคามเพียงแค่ส่วนน้อยซึ่งเขากำลังจัดการตามวินัยอยู่ ประเด็นคือ หากประเทศไทยทั้งประเทศมีโจร 10,000 คน แล้วประชากรทั้งหมดมี 70 ล้านคน คุณจะบอกว่า มีคนอีกตั้งหลายสิบล้านคนที่ไม่เป็นโจร ขอให้วางใจ อย่างนั้นเหรอ ประเด็นคือ แค่มีโจรเพียงรายเดียวก็ต้องไม่ได้แล้วสิ นี่คือความไม่เด็ดขาดของรัฐมนตรี และคือวิธีการเข้าใจปัญหาแบบใช้คณิตศาสตร์อย่างวิบัติ ต่อปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน แม้เกิดขึ้นรายสองราย ก็ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ จะเอาตัวเลขว่าครูส่วนใหญ่ยังเป็นครูที่ดีอยู่มาอ้างกลบเกลื่อนปัญหาแบบนี้ใช้ไม่ได้”
สำหรับการแจ้งเบาะแสความรุนแรงในโรงเรียนซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการระบุว่ามีการเปิดช่องทางให้แล้ว แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยนั้น รศ.ดร.ยุกติ ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ว่า ครูมีทั้งอำนาจในการให้คุณให้โทษนักเรียน และมีสถานะทางสังคมที่เหนือกว่านักเรียน แทนที่จะพยายามหาวิธีให้นักเรียนที่แจ้งเหตุความรุนแรงได้รับความปลอดภัย และกล้านำเสนอปัญหา หรือลงพื้นที่ไต่สวนอย่างจริงจัง แต่กลับมาเรียกร้องให้นักเรียนให้ความเป็นธรรมกับครูที่ถูกกล่าวหา หากแจ้งแล้ว เหยื่อเหล่านี้ก็อาจถูกทำร้ายซ้ำซ้อนจากครูที่กระทำรุนแรงต่อพวกเขายิ่งขึ้นเข้าไปอีก
ประเด็นการถูกคุกคามนี้ มีข้อมูลล่าสุดที่ตีแผ่โดย ‘กองบรรณาธิการลูกศิลป์’ ของนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งสำรวจสถานการณ์นักเรียนถูกทำร้ายและถูกคุกคามหลังเกิดปรากฏการณ์นักเรียนไทยผูกโบขาว ชูสามนิ้ว เรียกร้องประชาธิปไตย จากกลุ่มตัวอย่างนักเรียนมัธยมทั่วประเทศจำนวน 306 คน โดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ และการสัมภาษณ์นักเรียนในการชุมนุมบริเวณกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม ถึง 5 กันยายน 2563 พบว่านักเรียน 115 โรงเรียนทั่วประเทศ ถูกคุกคามหลังเรียกร้องประชาธิปไตย โดยนักเรียนจากโรงเรียน 101 แห่ง หรือร้อยละ 87.9 โดนทำร้ายคุกคามทางด้านจิตใจ
ทั้งที่ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ระบุไว้ว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่บังคับใช้ในสถานศึกษา และการชุมนุมของนักเรียนนั้นก็เป็นไปโดยปราศจากอาวุธ ซึ่งไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 44 ที่ว่าด้วย บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมจะกระทำมิได้ อีกทั้งในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการก็ยังไม่ได้มีการระบุไม่ให้มีการชุมนุมในสถานศึกษา และวิธีการลงโทษนั้นก็ผิดไปจากระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 นอกจากนี้ การชุมนุมของนักเรียนก็ยังเป็น 1 ในหลัก 4 ประการของสิทธิเด็กที่เด็กสามารถมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็น
สำหรับรูปแบบการคุกคามมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นถูกครูดุด่า 40 แห่ง, ถูกครูข่มขู่ว่าจะไม่ให้จบการศึกษา 33 แห่ง, ถูกครูยึดทรัพย์สินส่วนตัว (โทรศัพท์มือถือ โบขาว) 13 แห่ง, ถูกครูเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐ 10 แห่ง, โดนทัณฑ์บน 5 แห่ง
ผลสำรวจระบุด้วยว่า นักเรียนที่มาจากโรงเรียน 14 แห่ง หรือร้อยละ 12.1 โดนทำร้ายคุกคามทางด้านร่างกาย แบ่งเป็น ถูกครูตีด้วยไม้เรียว 7 แห่ง, ถูกครูตบหัว 3 แห่ง, ถูกครูกระชากคอเสื้อ 2 แห่ง, ถูกครูนำโบขาวมาผูกคอและบังคับลุกนั่งวิดพื้นอย่างละ 1 แห่ง
5 อันดับจังหวัดที่มีนักเรียนถูกทำร้ายคุกคามจากโรงเรียนมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 22 แห่ง, นครราชสีมา 6 แห่ง, นนทบุรี และราชบุรี จังหวัดละ 5 แห่ง, สุราษฎร์ธานี 4 แห่ง, สมุทรปราการ สงขลา อุดรธานี ขอนแก่น ชลบุรี จังหวัดละ 3 แห่ง ตามลำดับ
กอง บก.ลูกศิลป์ ซึ่งเป็นนักศึกษารั้วศิลปากร ยังตั้งคำถามว่า แม้จะมีการยื่นเรื่องและรายชื่่อโรงเรียนที่มีการทำร้ายคุกคามนักเรียนในการแสดงออกทางการเมืองให้แก่กระทรวงศึกษาธิการไปแล้ว แต่ทำไมถึงยังเกิดปัญหาเหล่านี้อยู่ตลอด?
บทวิพากษ์เหนือเส้นบรรทัดท้าทายอำนาจ‘ครู’ยุคเก่า
ท่ามกลางปมปัญหาต่างๆ คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ หรือคำตอบที่ชวนงงงวยกว่าเก่า ศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีคอมเมนต์ผ่านโลกออนไลน์ว่า ในขณะที่การศึกษาของโรงเรียนที่มี ‘ครู’ ที่บ้าอำนาจเป็นศูนย์กลางขนาดนี้ (Mad teacher-centered education) สิ่งที่น่าชื่นชมคือ นักเรียนกลับสามารถสร้างการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีตนเองเป็นศูนย์กลางด้วยตนเอง ค้นคว้า วิเคราะห์ถึงที่มาของความล้มเหลวของการศึกษา และวิพากษ์ได้อย่างถึงแก่น ท้าทายอำนาจด้วยความรู้ที่สั่งสมจากประสบการณ์ของตนเอง และเสนอแนวทางที่กระทรวงควรจะทำได้อย่างเฉียบคม เป็นรูปธรรม และเป็นความรู้ที่เขาค้นหามาจากประสบการณ์จริงที่เขาประสบด้วยตนเองนอกห้องเรียน ไม่ใช่ความรู้ ‘ราชการ’ ที่ได้จากการนั่งโต๊ะรอรายงานเอกสาร เอาแต่นั่งดูตัวเลขที่ข้าราชการชงขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เชื่อว่าข้อเสนอของนักเรียนเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เป็นสิ่งที่จะไม่มีวันเกิดขึ้นภายใต้การบริหารของรัฐมนตรีศึกษาธิการคนปัจจุบัน โดยให้เหตุผลว่าหลายคำตอบบนเวทีสะท้อนวิธีคิดปกป้องกลไกราชการและอำนาจนิยมของครู รวมถึงระเบียบเสื้อผ้าหน้าผมที่สุดท้ายไม่รู้ว่าก่อประโยชน์อะไรต่อนักเรียน
แม้การเรียกร้องที่สร้างปรากฏการณ์นี้จะเหมือนไร้ความหวังในปลายทางของคำตอบ แต่ใช่ว่านักเรียนจะเดียวดายกลางสายธารแห่งอำนาจและการคุกคามตลอดไป ทว่า ยังมีครูอีกไม่น้อยที่พร้อมเปิดใจ ผูกโบขาว ชูสามนิ้วประกาศเคียงข้างนักเรียนอย่างไม่กลัวเกรง หนึ่งในนั้นคือ ‘ครูทิว’ ว่าที่เรือตรี ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูสังคมศึกษา โรงเรียนวัดธาตุทอง แอดมินเพจดังทางการศึกษาอย่าง ‘ครูขอสอน’ ที่ขึ้นเวทีประกาศว่า ขอเป็นนกตัวแรกที่บินออกมานอกกรงขัง
“ยังมีครูอีกหลายคนที่ยังไม่กล้าออกมานอกกรงที่ล้อมเราอยู่ ผมขอเป็นนกตัวแรกที่บินออกมา และถ้าผมเกิดร่วงลงขอให้รู้ไว้ว่าไม่ใช่อื่นใด แต่เพราะผมถูกยิง ผมขอยืนหยัดอยู่ข้างนักเรียนของผม
เพราะการศึกษาคือการปลดปล่อยไม่ใช่การกดขี่”
"สั้น" - Google News
September 14, 2020 at 01:00PM
https://ift.tt/3k7j1hw
'คนละโลก'การศึกษาไทย อย่าแปลกใจ 'ม็อบคอซอง-ขาสั้น'ปังปุริเย่! โดย พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร - มติชน
"สั้น" - Google News
https://ift.tt/2yeZObk
No comments:
Post a Comment