Pages

Monday, July 27, 2020

คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Homemade รวมหนังสั้น 17 เรื่อง ในภาวะ 'กักตัวเอง' จากวิกฤตโควิด-19 - มติชน

ssingkatkata.blogspot.com
ภาพประกอบทั้งหมดจาก Netflix

หลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก “การเว้นระยะห่างทางสังคม” และ “การกักตัวเอง” คือคำบัญญัติที่ทุกคนในโลกได้สัมผัส ระยะเวลาร่วมเดือนที่ผู้คนต่างต้องใช้ชีวิตภายในที่พักอาศัย กิจกรรมทางสังคมหยุดชะงัก ชีวิตที่คุ้นเคยหายไป…

ภาพยนตร์สั้น 17 เรื่อง ในชื่อชุด “Homemade” ที่ออกฉายในเน็ตฟลิกซ์คือ “บันทึกแห่งยุคสมัย” ของเหล่านักสร้างหนังน้อยใหญ่ทั่วโลกที่มาร่วมกันในโปรเจ็กต์ทำหนังสั้นจากเคหสถานของตัวเอง

ภายใต้ข้อจำกัดของการกักตัวเอง และการเว้นระยะห่างทางสังคมทำให้นักสร้างหนังแต่ละคนได้ออกแบบท่วงท่า ทำนอง และวิธีเล่าเรื่องใหม่ได้อย่างน่าสนใจ

แม้ช่วงที่โควิด-19 จะแพร่ระบาดอย่างหนักจนบีบเค้นให้การทำกิจกรรมรวมหมู่เกิดขึ้นไม่ได้ การถ่ายทำภาพยนตร์ก็เช่นกัน แต่หนังสั้นทั้ง 17 เรื่อง ทำให้เราเห็นถึงพลังของความคิดสร้างสรรค์มิอาจหมดลง ทั้งยังช่วยขยายมุมมองใหม่จากความคุ้นชินเดิมๆ

หลายเรื่องถ่ายทำด้วยกล้องมือถือง่ายๆ แต่ลุ่มลึกด้วยวิธีเล่า และมุมมองที่ผู้กำกับฯถ่ายทอดออกมา โดยเฉพาะทุกเรื่องเชื่อมโยงและเชื่อมถึงสถานการณ์สำคัญของโลกในวาระของโรคระบาดที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะพลิกโฉมหน้าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้

Homemade คือการทำงานหนังสั้นภายใต้ข้อจำกัดเดียวกัน และทุกเรื่องถ่ายทำกันในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นช่วงพีคของการกักตัวเองของผู้คนทั่วโลก

ผลที่ได้คืองานคราฟต์แนวทดลองของผู้กำกับฯแต่ละคน ทั้งสายอินดี้ไปจนถึงมือรางวัล ที่ต่างใช้จังหวะที่เป็นข้อจำกัดนี้ทดสอบวิธีและสไตล์การเล่าเรื่องผ่านภาพเคลื่อนไหว และแน่นอนทุกเรื่องก็ได้ทำหน้าที่บันทึกช่วงเวลาสำคัญของโลกใบนี้ไว้

หนังสั้นแต่ละเรื่องในชุด Homemade มีความยาวเฉลี่ยอยู่ที่ 7-10 นาที หลายชิ้นงานโดดเด่นจนอยากแนะนำบอกต่อ เพราะมันได้ใส่พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากการได้อยู่ลำพัง สัญญะต่างๆหรือการเติมใส่ความหมายที่ลึกซึ้งปรากฎให้เห็นในหนังสั้น ที่บางเรื่องเสนอให้เห็นถึงความหวาดกลัว ความเงียบงันที่คนจำนวนมากต้องเผชิญท่ามกลางการกักตัวเอง

บางเรื่องคือการสำรวจพฤติกรรม บ้างก็พูดคุยกับตัวเอง สะท้อนตัวตน และบางเรื่องก็กำลังสนทนากับคนดู

ในหนังสั้น 17 เรื่องนี้ หลายเรื่องโดดเด่นในวิธีการนำเสนอ เช่นผลงานของผู้กำกับฯ “เปาโล ซอร์เรนติโน” ที่หยิบเอาโมเดลตุ๊กตาตัวเล็กๆ ในบ้าน ควีนอลิซาเบธแห่งสหราชอาณาจักร และสมเด็จพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรม มาเป็นตัวละครสองคนที่กำลังพูดคุยกัน โดยใช้ฉากหลังจากสิ่งละอันพันละน้อยในบ้านของเขาสร้างจินตนาการใหม่ขึ้นมา ผ่านบทพูดที่คมคายและตลกร้าย

ผลงานของ “ลัดจ์ ลี” คือหนังสั้นที่เล่าเรื่องเรียบง่าย แต่ถ่ายทอดอารมณ์ความเหงาจากภาวะกักตัวของทุกคนในสังคมได้ดีผ่านเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งที่มีกิจวัตรประจำวันช่วงกักตัวอยู่ในอพาร์ตเมนต์ด้วยการใช้โดรนบินส่องมองบรรยากาศภายนอกในละแวกบ้าน ส่องมองเพื่อนบ้านตามตึกอพาร์ตเมนต์ต่างๆ ความเงียบงัน ผู้คนที่อยู่กันตามระเบียง บ้างก็นั่งชะโงกหน้าจากหน้าต่างเหม่อมอง บ้างก็ยังคงใช้ชีวิตประจำวันต่อไปในห้องกล่องสี่เหลี่ยมของแต่ละคนอย่างไม่มีทางเลือก

หนังสั้นของ “เรเชล มอร์ริสัน” คือการถ่ายทำกิจกรรมแต่ละวันของลูกชายตัวน้อยวัย 5 ขวบด้วยโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ประสานไปกับท่วงทำนองการบอกเล่าถึงเรื่องราวของเด็กวัยไร้เดียงสาที่จำต้องถูกกักตัวอยู่ในบ้าน แต่ละวันใส่แต่ชุดนอน ทำกิจกรรมวัยเด็กเล่นทะโมนอยู่ในพื้นที่อันจำกัด เธอหวังอย่างยิ่งว่า นี่จะไม่ใช่ความทรงจำหรือสถานการณ์ที่สร้างคาแรกเตอร์บิดๆ เบี้ยวๆ ใหม่ให้กับลูกของเธอ ท่ามกลางภาวะที่ต้องกักตัวเองและใช้วิธีพึ่งพิงศาสตร์แห่งความอดทนและความไม่แน่นอนนี้

“คริสเตน สจ๊วต” นักแสดงหญิงชื่อดังเข้ามาร่วมในโปรเจ็กต์หนังสั้นนี้ด้วยเช่นกัน เธอเขียนบท และกำกับฯหนังสั้นในบ้านบนเขาที่ลอสแอนเจลิส ใช้ตัวเองแสดงเป็นหญิงสาวคนหนึ่งที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้านพร้อมอาการทรมานจากการนอนไม่หลับ ทั้งยังเสียอารมณ์กับเสียงจิ้งหรีดที่ดังไม่หยุดหย่อนแทรกทะลุความเงียบสงัด มันได้สำแดงให้เห็นความทรมานกับความอ่อนล้าที่ผสมปนเปสับสนทั้งในยามหลับและยามตื่นที่ดูวนเวียนไม่รู้จบ

และใครเลยจะคิดว่าช่วงกักตัวอันน่าหดหู่นี้ “เซบาสเตียน เลลิโอ” ผู้กำกับฯดังชาวชิลี จะดีไซน์หนังสั้นออกมาเป็นหนังมิวสิคัลที่พูดถึงไวรัสโควิด-19 คลอไปกับบรรยายการกักตัวได้อย่างมีอรรถรส ผ่านตัวละครหญิงที่เป็นภาพแทนของทั้งสติและความเพ้อคลั่งเดินร้องเพลงพร้อมท่วงท่าการแสดงในแบบจินตลีลาไปทั่วบ้าน ผ่านบทเพลงที่ยั่วเย้า มีเนื้อหาชวนให้เราตั้งคำถามกับมนุษยชาติถึงวิกฤตไวรัสนี้ และที่สำคัญยังดูบันเทิงเพลิดเพลินไปพร้อมกัน

ในผลงานของผู้กำกับหญิง “อานา ลิลี อามีร์พัวร์” เธอออกไปปั่นจักรยานตามท้องถนนในเมืองลอสแอนเจลิส กล้องโดรนเคลื่อนตามเธอไป พร้อมกับภาพอันเวิ้งว้างของเมืองใหญ่ ผสมผสานด้วยเสียงคำบรรยายของนักแสดงหญิง “เคท บลานเชตต์” ที่พูดถึงมุมมองทัศนคติของศิลปินต่อการใช้ชีวิตท่ามกลางการถูกกักตัว และศิลปะคือกลไกหนึ่งที่จะเยียวยาวิกฤตนี้ได้ ด้วยแนวคิดที่ว่าแม้ชีวิตที่คุ้นเคยหายไป แต่เราสามารถสร้างมุมมองใหม่ต่อเรื่องนี้ เพื่อให้เราผ่านสถานการณ์อันยากลำบากนี้ไปได้

หนังสั้นของอามีร์พัวร์ถูกลำดับไว้เป็นเรื่องปิดท้ายของ Homemade เธอตั้งคำถามสำคัญว่า มนุษยชาติจะเอาชนะความกลัวที่ราวกับเป็นสถาปนิกของเรื่องราวโควิด-19 นี้ได้อย่างไร

“มดไม่รู้สึกว่าไร้ประโยชน์หรือตัวเล็ก จนกระทั่งวันหนึ่งมันรู้ตัวว่ามันเป็นมด และโลกกว้างใหญ่กว่าโลกที่มันรู้จัก ถ้ามดรู้ว่าโลกกว้างใหญ่แค่ไหน อันตรายแค่ไหน โลกคงจะน่ากลัวมากสำหรับมด แม้ว่ามดจะอยู่อาศัยบนโลกที่เต็มไปด้วยอันตรายมากมาย เจ้าสิ่งมีชีวิตจิ๋วกลับไม่รู้สึกกลัวเลย เพราะมดไม่ได้สนใจความคิดน่ากลัวเหล่านั้น มันสนใจสิ่งที่มันถูกออกแบบมาให้สังเกต คือการเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วที่แบกของหนักมาก” บางคำบรรยายในหนังสั้นเรื่องนี้เปรียบเปรยระหว่างมนุษย์และความเป็นมด

…หนังสั้นแต่ละเรื่อง คือภาพแทนของสังคมว่าเราแต่ละคนใช้มุมมองอะไรมองสถานการณ์ไวรัสแพร่ระบาดนี้

หนังสั้นใน Homemade มองหาความหวัง และมีแง่มุมชวนคิด ชวนให้เรามองเห็นว่าวิกฤตโควิด-19 นี้

เราจะนับสิ่งที่สูญหายหรือควรจะนับสิ่งที่ยังเหลืออยู่

Let's block ads! (Why?)



"สั้น" - Google News
July 26, 2020 at 03:48PM
https://ift.tt/3eZvdxS

คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Homemade รวมหนังสั้น 17 เรื่อง ในภาวะ 'กักตัวเอง' จากวิกฤตโควิด-19 - มติชน
"สั้น" - Google News
https://ift.tt/2yeZObk

No comments:

Post a Comment